ศิลปะยุคบาโรค Baroque ตอนที่ 5 Peter Paul Rubens รูเบนส์ ผู้เป็นหัวขบวนยุคทองของ ศิลปะบาโรก

  เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ หรือรูเบนส์ Peter Paul Rubens (1577-1640) ผู้เป็นหัวขบวนยุคทองของ ศิลปะบาโรก

Peter Paul Rubens, Self - Portrait (1623)

     ในสมัยนั้นประเทศฮอลแลนด์และประเทศเบลเยียม เป็นแว่นแคว้นรวมอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวสเปนและประชาชนทั้งหลายต่างก็กำลังจะเริ่มก่อกบฏต่อต้านผู้กดขี่พวกเขา บิดาของรือเบินส์ต้องหลบหนีจากสเปนไปยัง ประเทศเยอรมนี ที่เมืองซีเกิน รือเบินส์จึงเกิดที่เมืองนี้ พอ10 ขวบบิดาได้เสียชีวิตลง แม่จึงส่งกลับไปนครแอนต์เวิร์ป หรือเบินส์เข้าโรงเรียนในนครแอนต์เวิร์ป (ปัจจุบันเรียกว่าประเทศเบลเยียม) และเรียนรู้ภาษาละตินและภาษากรีกด้วยแม่อยากให้รับราชการเธอจึงส่งเขาไปเป็นมหาดเล็กในวัง แต่ด้วยความเบี่อหน่ายเขาจึงออกมาศึกษาวาดรูปอย่างจริงจัง โดยศึกษากับอาจารย์3 ท่าน

Portrait Portrait of a Young Scholar ปี1597 วาดตอนอายุ20 ปี

ภาพประวัติการก่อตั้งกรุงโรมที่กล่าวถึง
เรมุสกับโรมิอุส ถูกนำไปเลี้ยงโดยหมาป่า

    แต่สำหรับพรสวรรค์ทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ของเขา แม้แต่แอนต์เวิร์ป (ซึ่งในขณะนั้นใหญ่กว่าลอนดอนหรือปารีส) ก็ยังเล็กเกินไป เขาเดินทางไปอิตาลี ศึกษา วาด และลอกทุกอย่างในศิลปะอิตาลีที่เขาสามารถเจอเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทิเชียน

Jupiter and Callisto ปี 1613 ลักษณะภาพในยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลจากทิเทียน

The Battle of Anghiari งานที่ลอกจากดาวินซีปัจจุบันรูปของดาวินซีที่วาดไว้หายไปแล้ว

    ที่โรม ศิลปะบาโรกกำลังเกิดขึ้นในฐานะศิลปะเรอแนซ็องส์ครั้งที่สอง เขาศึกษางานของดาวินซี มีเกลันเจโลในโบสถ์น้อยซิสทีน และงานราฟาเอลอยู่4ปี จึงกลับไปแอนต์เวิร์ป ทันทีทันใดหลังการกลับของเขา เขาวาดการชื่นชมของแมไจสำหรับศาลาว่าการเมืองแอนต์เวิร์ป

การชื่นชมของแมไจ

raising-of-the-cross สีน้ำมันบนแผ่นไม้ปี1610 หลังจากไปศึกษางานที่โรมได้รับอิทธิพลของไมเคิลแองเจลโล ทิเทียนแต่มีความลื่นไหลอย่างมีพลังในรูปแบบของตน

   เขาแต่งงานกับอีซาแบ็ลลา บรันต์ (Isabella Brant) ลูกสาวของผู้สูงศักดิ์มีฐานะดีที่แอนต์เวิร์ป

ภาพวาดลายเส้นดินสอ อีซาแบ็ลลา บรันต์ (Isabella Brant)ในวัยรุ่น 
มีลายเซนด้านล่างขวา  P P R

รือเบินส์กับภรรยาอีซาแบ็ลลา บรันต์ 
The Artist and His First Wife, Isabella Brant c. 1609.


      ผลงานเขาเริ่มมีชื่อเสียง บ้านของเขาขยายใหญ่ราวกับพระราชวังด้วยห้องทำงานที่มโหราฬ รือเบินส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นจิตรกรในราชสำนักของอาร์ชดุ๊กอัลเบร็ชท์ ข้าหลวงสเปน สตูดิโอของเขากลายเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมทางการทูต ในฐานะฑูตหลวงผู้ประสานสิบทิศเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (จากสงครามศาสนาที่ผ่านมา30ปี ประเทศแถบยุโรปแตกแยกกันรุนแรงโดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษและเนเธอแลนด์)

Sir Peter Paul Rubens  รูเบนส์ฐานะอัศวินในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ

Marchesa Brigida Spinola-Doria
หญิงสูงศักดิ์แห่งสเปน

Anne of austria_1621-5 
พระนางแอนแห่งออสเตเรีย

Portrait of King Philip IV
พระเจ้าฟิลิปที่4กษัตริย์สเปน

Painting from Peter Paul Rubens workshop, 1620

       การวาดผิวเนื้อโดยเคลือบสีเป็นชั้นๆทำให้ภาพคนของรูเบนส์มีเลือดเนื้อที่ไหลเวียน ดูจริงจังซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของเขายากที่จะเลียนแบบได้



      เนื่องจาก Rubens มีความผูกผันกับราชสำนักที่นับถือนิกายคาธอลิก งานจิตรรรมของเขาจึงผิดแปลกไป จากงานของ พวกจิตกรในฮอลแลนด์ทั่วๆไปที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ รูเบนส์ได้แปรรูปแบบของศิลปะเรอเนสซองส์ให้มาเป็นแบบส่วนตัวของเขาเองโดยไม่เหมือนใคร

Alethea of Arundel  1620 เป็นภาพที่แสดงสถาปัตยกรรมเสาแบบบาโรคที่เห็นอย่างชัดเจน Howard, Countess



      รูเบนส์ใช้การเล่นสี (Painterly Painting)แบบเฟล็มมิชซึ่ง มีลักษณะการปลดปล่อย รูปทรงที่เป็นอิสระด้วยเส้นที่เป็นคลื่นลอน เลื่อนไหลไปราวกับเปลวเพลิง คล้ายๆกับงานของ El Greco แต่รูเบนส์ก็ไม่เหมือนกับ เอล เกรโก ตรงที่รูเบนส์ได้สร้างรูปทรงที่มีนํ้าหนักด้วยเส้นโค้ง กวาดตวัดเหวี่ยงไปด้วยพลังเคลื่อนไหว ร่างคนจะทำท่าบิด หมุน เลื่อนไหล ประกอบกับการจัด Composition ที่สร้างความเครียดขึ้นมา สีที่แปรเปลี่ยนกับจังหวะลีลาที่เป็นเส้นโค้งคด ซึ่งทั้งหมด นี้ก็คือแบบฉบับเฉพาะตัวของ Rubens เอง

daniel-lions


ภาพอุปมัยแห่งการเกิดสงคราม
( Allegory of the Outbreak of War)

        เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการอุปมัยเหตุการณ์สงครามในยุโรปที่ยึดเยื้อหลายร้อยปีตั้งแต่ยุคมืดจนถึงยุคของการก่อเกิดประเทศต่างๆในยุโรป รูเบนส์สร้างภาพจิตรกรรมพรรณนาถึงสงครามเชิงเปรียบเทียบกับเรื่องราวของเทพปกรณัม ซึ่งเชื่อว่าสงครามเกิดจากการเปิดประตูที่มหาวิหารเจนัส(Janus temple)ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้ามาร์ส(Mars) ซึ่งเป็นเทพแห่งสงคราม เมื่อใดก็ตามที่ประตูวิหารแห่งนี้เปิดเทพแห่งสงครามก็จะออกมาก่อศึกสงครามเข่นฆ่าผู้คนทันที ในภาพนี้เทพมาร์ส สวมหมวกนักรบมือซ้ายถือโล่ มือขวากระชับดาบไล่ฟังผู้คนล้มตายอยู่เบื้องหน้าไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงผู้หญิงคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่เว้น มิวายที่เทพเจ้าวีนัสซึ่งเป็นเทวีแห่งความรักหรือลูกชายคิวปิดจะเหนี่ยวรั้งก็ไม่เป็นผล


     ส่วนด้านหน้าของเทพมาร์สคืออสูรแห่งสงครามที่คอยดึงและยุแหย่ในเข้าสู่สงคราม ในภาพนี้รูเบนส์ได้แฝงความหมายเชิงเปรียบเทียบ (Allegory) ภาพผู้หญิงเปลือยที่ล้มอยู่ด้านหน้าเทพมาร์สคือสัญลักษณ์ของความงามและศิลปะ ส่วนรูปผู้หญิงกอดทารกคือสัญลักษณ์แห่งความรัก ใต้เท้าของเทพมีกระดาษและผลงานวาดเส้นหล่นเกลื่อนกลาดอยู่พื้น หมายถึงวรรณกรรมและศิลปะ ความหมายก็คือสงครามจะไม่มีความปราณี มันจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างหายนะทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ศิลปะ วรรณกรรม ไร้ซึ่งความรัก ความเมตตา


Samson_and_Delilah 
แซมซั่นเดไลล่าเป็นเรื่องจากคัมภีร์ทางศาสนาเป็นที่นิยมวาดกันเสมอ

       เป็นเรื่องของสองสามีภรรยาชาวอิสราเอลอยากมีลูกเลยไปอ้อนวอนเทพเจ้าเพื่อขอให้ได้ลูกชาย แต่ต้องสัญญากับพระเจ้า หนึ่งในสัญญาเหล่านั้นก็คือ จะต้องไม่ตัดผม ไม่ทานผลองุ่น รวมไปถึงไม่ดื่มไวน์ (ของมึนเมา)และไม่แตะต้องซากศพคนตาย...ภายใต้การรักษาสัญญาที่เคร่งครัดของพ่อและแม่นั้น แซมซั่นก็เติบโตขึ้นมาด้วยร่างกายที่กำยำแข็งแรง และมีพละกำลังมากมายผิดกับมนุษย์ทั่วไป

     แซมซั่นได้เข้าร่วมต่อสู้ทำสงครามกับชาว Philistines หลายต่อหลายครั้ง และเมื่อแซมซั่นรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพระผู้เป็นเจ้า ก็ทำให้แซมซั่นเป็นฝ่ายชนะสงครามแทบจะทุกครั้งไป... เวลาผ่านไป แซมซั่นเริ่มทะนงในความยิ่งใหญ่และชัยชนะของตน จึงผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับพระผู้เป็นเจ้าหลายข้อ เหลือเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือยังไม่ตัดผม  

      เมื่อแซมซั่นผิดสัญญา ก็แน่นอนว่าหลายต่อหลายครั้งในการรบ แซมซั่นจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ช่วงเวลาที่แซมซั่นรบชนะนั้นได้สร้างความโกรธแค้นในใจ ให้เกิดขึ้นกับชาว Philistines มากมาย เพราะสงครามได้ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งคร่าชีวิตของชาว Philistines ไปเป็นจำนวนมาก

     แซมซั่นมีจุดอ่อนอยู่ที่มักจะพ่ายแพ้ต่อความงามของอิสตรี และสาวงามที่แซมซั่นไปหลงรักก็กลับเป็นสาวชาว Philistines ชื่อว่า "เดไลล่า" ซึ่งเป็นสตรีที่ทั้งสวยและมีเสน่ห์เหลือเกิน ในขณะเดียวกัน เดไลล่าก็ได้รับการว่าจ้างด้วยเงินเงินก้อนโตจากพวก Philistines ด้วยกันให้สืบหาให้ได้ว่าจุดอ่อนของแซมซั่นคืออะไร?

หลายครั้งที่แซมซั่นได้หลอกเดไลล่าว่าจุดอ่อนของตนอยู่ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เดไลล่าก็ลองทำ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แซมซั่นยังคงมีพละกำลังมากมายมหาศาลเหมือนเดิม
จนมาวันหนึ่งแซมซั่นทนเห็นเดไลล่าร้องไห้คร่ำครวญไม่ไหวอีกต่อไป จึงยอมบอกว่าจุดอ่อนของตนนั้นอยู่ที่ "ผม" คือไม่สามารถตัดได้...


    เมื่อเดไลล่าได้ทราบดังนั้น จึงแอบตัดผมของแซมซั่นในขณะที่แซมซั่นกำลังหลับอยู่ และเมื่อตื่นขึ้นตอนเช้าแซมซั่นจึงรู้ว่าเดไลล่าได้ทรยศต่อความรักของตนเสียแล้ว

     แซมซั่นถูกชาว Philistines จับไปเป็นเชลย ถูกทรมานต่างๆนานา แต่พอวันเวลาผ่านไป ผมของแซมซั่นก็ค่อยๆยาวขึ้น พละกำลังของตนเองก็เริ่มกลับคืนมาอีกครั้ง  


      วันหนึ่งแซมซั่นได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดงานบูชาเทพเจ้าที่ชาว Philistines นับถือขึ้นที่ Temple of Dagon และในงานนั้นจะเป็นการชุมนุมของชาว Philistines นับพันคน




    แซมซั่นได้ลักลอบเข้าไปในวิหาร ใช้แขนทั้งสองข้างและพละกำลังอันมหาศาลของตนที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ ดึงเสาทั้งสองลงมา วิหารทั้งวิหารจึงพังทะลายลง

     ก้อนหินนับร้อยนับพันที่ประกอบขึ้นรวมกันเป็นมหาวิหารก็ร่วงหล่นลงมาใส่ร่างของแซมซั่นและชาว Philistines ที่มาร่วมงานในวันนั้น ผู้นำชาว Philistines นักการเมือง ทหาร ผู้นำจิตวิญญาณ และประชาชนที่มาร่วมงาน 3 พันคน จึงเสียชีวิตพร้อมกันหมดพร้อมทั้งตัวแซมซั่นเอง




   เบนส์เป็นจิตรกรที่ทรงอิทธิพลของยุคบาโรกแห่งเฟลมิชที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของยุค และการใช้จักษุศิลป์ในการสื่อความหมายของงานจิตรกรรม รือเบินส์เป็นผู้ดูแลการสร้างงาน และสร้างงานต่าง ๆ ด้วยตนเองด้วยกันกว่าสามพันชิ้นที่รวมทั้งงานภาพพิมพ์แกะไม้, ภาพพิมพ์แกะโลหะ และจิตรกรรมที่เขียนบนวัสดุหลายอย่าง


รูเบนส์วาดให้ครอบครัว Jan Bruegel the Elder(ลูกชายของบรุกเคิล ศิลปินเฟรมมิสสมัยเรอเนสซองค์)


Allegory of Sight, 1617 Museo del Prado;วาดโดย Peter Paul Rubens กับJan Bruegel the Elder  


   ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งที่รูเบนส์กับบรุคเคิ่ล(คนที่เป็นลูก)ได้เคยร่วมงานกันซึ่งมีอยู่หลายภาพ โดยรูเบนส์เป็นผู้วาดคน

    ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส (Marie de' Medici cycle) เป็นภาพเขียนชุดจำนวนยี่สิบสี่ภาพในปี ค.ศ. 1621 ที่ว่าจ้างโดยพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส พระอัครมเหสีในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในสัญญาระบุว่าโครงการเขียนภาพจะต้องเสร็จภายในสองปีเพื่อให้ทันเวลากับการเสกสมรสของพระราชธิดาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียกับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ


เจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรีย
(พระราชธิดาของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส )
กับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ  วาดโดยแวนไดซ์ Anton van Dyck 
ศิษย์โปรดของรูเบนส์


ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส ปัจจุบันภาพทั้งหมอแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวล์ฝรั่งเศส

    ระหว่างการเขียนภาพเป็นสมัยของความไม่สงบทางการเมือง ที่รือเบินส์ต้องพยายามเลี่ยงการแสดงการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในขณะนั้น รือเบินส์จึงหันไปใช้อุปมานิทัศน์จากตำนานเทพ, บุคลาธิษฐานของคุณธรรมและศาสนาแทน


พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเมื่อยังทรงพระเยาว์
ดยจิตรกรของสำนักเซนต์ทิโท 
เป็นพระอัครมเหสีองค์ที่สองในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 
(คงจำได้ว่ามเหสีคนแรกของอองรีที่4หรืออองรีแห่งนาวาร์เป็นลูกสาวของพระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิซี ในงานแต่งละเลงเลือดในครั้งก่อน )

   ภาพเขียนทั้งหมดมียี่สิบเอ็ดภาพเป็นภาพการต่อสู้และการได้รับชัยชนะต่าง ๆ ในชีวิตของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส อีกสามภาพเป็นภาพเหมือนของพระองค์เองและพระราชบิดามารดา


ภาพเหมือนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส 
โดยรือเบินส์ ราว ค.ศ. 1622-ค.ศ. 1625 
(พิพิธภัณฑ์ปราโด สเปน)

      พระเจ้าอ็องรีที่4 พระสวามีทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1610 (ครองราชย์11ปี) เจ้าชายหลุยส์พระราชโอรสผู้ขณะนั้น มีพระชนมายุเพียงแปดพรรษาครึ่ง ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (เป็นบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสและยุโรป) ทำให้พระราชินีมารี เดอ เมดีซิส ต้องเป็นผู้สำเร็จราชการ  จนพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 อายุ 18 ปีจึงได้ยึดอำนาจแล้วขับพระราชินีมารีออกจากปารีส โดยพระเจ้าหลุยส์พระราชโอรสของพระองค์เองหลังจากผ่านไป 6 ปี แม่ลูกก็มาคืนดีกันอีกระยะหนึ่ง พระนางจึงจ้างรูเบนส์ให้วาดชุดนี้ขึ้น


มาดูภาพบางส่วนของชุดนี้กัน
"การแสดงพระฉายาลักษณ์ต่อพระเจ้าอ็องรี" 
(Presentation of Her Portrait to Henri IV)

     พระเจ้าอ็องรีที่ 4 ทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงมารี เดอ เมดีซิสทันทีที่ทอดพระเนตร เห็นพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ในภาพไฮเมเนียสเทพเจ้าแห่งการแต่งงานและคิวปิดเทพเจ้าแห่งความรักเป็นผู้ถือภาพของเจ้าหญิงมารีต่อพระพักตร์ของพระเจ้าอ็องรีผู้ที่จะมาเป็นพระสวามี ขณะที่เทพจูปิเตอร์และเทพีจูโนนั่งอยู่บนก้อนเมฆมองลงมายังพระเจ้าอ็องรี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการเสกสมรสที่เป็นที่เห็นพ้องและชื่นชมโดยเทพ ขณะที่บุคลาธิษฐานของฝรั่งเศสใส่หมวกเหล็กแตะพระพาหาของพระเจ้าอ็องรีเป็นการแสดงการสนับสนุนและชื่นชมกับภาพของบุคคลที่จะมาเป็นพระราชินีในอนาคตร่วมกับพระองค์



     ในภาพนี้ฝรั่งเศสเป็นได้ทั้งชายและหญิงในขณะเดียวกัน ท่าทางอันใกล้ชิดระหว่างฝรั่งเศสกับพระเจ้าอ็องรีอาจจะเป็นนัยถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระเจ้าอ็องรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส ท่าทางเช่นนี้มักจะเป็นท่าที่ใช้ระหว่างชายต่อชายด้วยกันในการบอกความลับให้แก่กัน  แต่การแต่งตัวของบุคลาธิษฐานที่ส่วนบนของร่างกายเป็นสตรีที่เผยให้เห็นหน้าอก และการห่มผ้าก็เป็นไปในลักษณะของการห่มแบบคลาสสิก แต่ส่วนล่างโดยเฉพาะต้นขาที่เผยให้เห็นและรองเท้าบูทแบบโรมันแสดงถึงความเป็นชาย ที่เป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งอย่างบุรุษ แสดงถึงไม่แต่เทพเจ้าเท่านั้นที่ชื่นชม แม้แต่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ยินดีด้วยด้วย


การขึ้นฝั่งที่มาร์แซย์ 
(The Disembarkation at Marseilles)

    ตามปกติแล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็มิได้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด แต่รือเบินส์ก็สามารถทำให้ภาพของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเมื่อเสด็จโดยทางชลมารคมาถึงเมืองท่างมาร์แซย์ของฝรั่งเศสหลังจากที่ทรงเสกสมรสโดยฉันทะกับพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ที่ฟลอเรนซ์แล้วให้เป็นภาพที่น่าสนใจกว่าความเป็นจริงได้อย่างน่าประทับใจ ภาพนี้เป็นภาพที่พระราชินีมารีกำลังเสด็จพระราชดำเนินลงจากสะพานเรือพระที่นั่ง ตามความเป็นจริงแล้วทรงดำเนินขึ้นและการเขียนให้ดำเนินลง ทำให้สร้างการจัดองค์ประกอบของภาพ ให้เป็นสามเหลี่ยมได้ พระราชินีมารีเสด็จลงพร้อมกับคริสตีนแห่งลอแรน แกรนด์ดัชเชสแห่งทัสเคนีและพระขนิษฐาเอเลนอรา ดัชเชสแห่งมันโตวา เข้าไปสู่การต้อนรับด้วยความปิติของบุคลาธิษฐานแห่งฝรั่งเศสผู้สวมเสื้อคลุมสีน้ำเงินประด้วยสัญลักษณ์ดอกลิลลีของฝรั่งเศสผู้อ้าแขนรับพระราชินีองค์ใหม่เข้าสู่อ้อมอกของประเทศใหม่




    ด้านล่างของภาพเป็นเทพเนปจูนและนางพรายทะเลผุดขึ้นมาจากทะเลหลังจากที่ได้พิทักษ์พระองค์ในการเดินทางอันยาวนานมาจนมาถึงมาร์แซย์ได้โดยปลอดภัย รือเบินส์สร้างฉากที่รวมทั้งสวรรค์และโลก และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และอุปมานิทัศน์ได้อย่างมีอรรถรสแก่สายตาของผู้ดูอย่างไม่มีที่ติ ในภาพจะมีตราประจำตระกูลเมดีชีอยู่เหนือโค้งประทุนตรงมุมซ้ายบนของภาพ และอัศวินแห่งมอลตาแต่งตัวเต็มยศยืนสังเกตการณ์อยู่บนเรือข้างประทุน


การพบปะระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีที่ลียง 
The Meeting of Marie de' Medici and Henry IV at Lyons

      ภาพนี้ใช้อุปมานิทัศน์ของเทพในการแสดงการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าอ็องรีโดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามธรรมเนียมที่บ่งถึงเทพแต่ละองค์ พระราชินีมารีทรงเป็นเทพีจูโน (กรีก เทพีเฮรา) ประทับบนราชรถที่มีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ และพระเจ้าอ็องรีทรงเป็นเทพจูปิเตอร์ (กรีก ซูส) ทรงถือสายฟ้าในพระกรซ้ายและเหยี่ยวใต้พระชานุ ทั้งสองพระองค์ประสานพระหัตถ์ขวาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าทรงคู่สามีภรรยากัน ฉลองพระองค์ของทั้งสองพระองค์เป็นแบบคลาสสิกซึ่งเป็นการเหมาะกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพ เหนือพระเศียรเป็นเทพไฮเมเนียสผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการสมรส สายรุ้งบนมุมซ้ายตอนบนเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองกันและความสันติสุข ด้านล่างซ้ายของภาพเป็นเมืองลิยงในฝรั่งเศสที่ดูจากซ้ายไปขวาจะเป็นภูมิทัศน์ของเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขา




     กลางภาพด้านหน้าล่างเป็นราชรถลากด้วยสิงโตสองตัว (คำว่าสิงโตในภาษาฝรั่งเศสพ้องกับชื่อเมืองลิยง (Lyon)) ราชรถขับโดยบุคลาธิษฐานผู้สวมมงกุฎของเมืองลิยงผู้ชายตาขึ้นไปยังสองพระองค์ที่นั่งลอยอยู่ตอนบนของภาพ รือเบินส์ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกเทพที่ใช้แทนพระองค์พระเจ้าอ็องรีในการพบปะกันครั้งแรกระหว่างสองพระองค์ เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการแสดงการหมิ่นพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าอ็องรี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแฝงนัย ที่ต้องการจะสื่อถึงคุณลักษณะความเจ้าชู้ของพระองค์


การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์ 
Reconciliation of the Queen and her Son

       การคืนดีระหว่างพระราชินีมารีและพระเจ้าหลุยส์" เทพีแห่งความยุติธรรมกำลังเข่นฆ่าไฮดราในตอนล่างของภาพโดยมีเทพแห่งความรอบคอบดูเป็นพยานอยู่ข้างหลัง ในภาพนี้สัตว์ร้ายไฮดราเป็นสัญลักษณ์ของชาร์ล ดาลแบร์ ผู้ที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยน้ำมือของนักบุญไมเคิล ดาลแบร์ผู้นำสูงสุดทางการทหารของประเทศช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีมารีและพระราชโอรสดีขึ้น แต่ไม่นานคองเดผู้เป็นข้าราชสำนักคนโปรดของพระราชโอรสและผู้เป็นศัตรูคนสำคัญของพระราชินีมารีก็ก้าวเข้ามาแทนที่ดาลแบร์ต พระราชินีมารีเองก็คงมีพระประสงค์ที่จะแก้แค้นให้แก่การเสียชีวิตของพระสหายคนสนิทและก็คงมีพระประสงค์ที่จะบรรยายภาพการทำลายชาร์ล ดาลแบร์โดยตรง แต่รือเบินส์เลี่ยงไปใช้อุปมานิทัศน์แทน โดยสร้างฉากความดีชนะความชั่วและสรรเสริญความปรองดองอันสันติสุขของทั้งพระองค์และพระราชโอรสเป็นการง่ายที่จะเข้าใจถึงสาเหตุที่ดาลแบร์ตถูกทำลายด้วยเทพและโยนลงไปในหลุมนรก จากการกระทำต่าง ๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ที่รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีพระราชินี




       ในภาพนี้พระเจ้าหลุยส์ทรงเจริญพระชันษาขึ้นในรูปของเทพอพอลโล ความตายของไฮดราไม่ใช่ด้วยน้ำพระหัตถ์ของพระองค์อย่างที่คาดว่าควร จะเป็นแต่ด้วยน้ำมือของเทพีแห่งความยุติธรรม ผู้มีร่างอันกำยำอย่างสตรีอเมซอน การเข่นฆ่าดาลแบร์ตของเทพีจึงเป็นการกระทำที่ปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์ ผู้ไม่ไยดีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนพระราชินีมารีก็ทรงปรากฏในภาพของมารดาผู้รักบุตรชายผู้พร้อมที่จะยกโทษให้ต่อสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ทรงต้องทนมาตลอด

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" สีน้ำมันบนแผ่นไม้ 
Marie_de_Medicis_as_Bellona

       สัญญาจ้างการเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี" เดิมรวมการเขียน "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ด้วย แต่เขียนไม่เสร็จแม้ว่าจะทำการเริ่มเขียนภาพต่อจากชุดแรกในปี 1628  "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ตั้งใจเป็นภาพขนาดใหญ่ยี่สิบสี่ภาพที่จะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเจ้าอ็องรี "ที่ทรงประสบ, การสงครามที่ทรงเข้าร่วม, ชัยชนะที่ทรงได้รับ และการตีเมืองต่าง ๆ และทรงได้รับชัยชนะ


ภาพพระราชประวัติของพระราชสวามี พระเจ้าอ็องรีที่ 4 
ไม่ได้รับการเขียนให้สำเร็จ จึงมีแต่ภาพร่างเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่

    เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อพระราชินีมารีทรงถูกห้ามไม่ให้เข้าปารีสอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1631 เมื่ออาร์ม็อง ฌ็อง ดูว์ เปลซี เดอ รีเชอลีเยอมามีอิทธิพลต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ( พระนางทรงหนีไปประทับอยู่ที่บรัสเซลส์ และสิ้นพระชนม์ขณะที่ประทับลี้ภัยอยู่ที่นั่น ณ บ้านเก่าของรือบินส์ ใน ค.ศ. 1642) การอนุมัติงานถูกเลื่อนไปโดยทางราชสำนักขณะนั้น และรือเบินส์ไปพำนักอยู่ที่มาดริดเพื่อเตรียมตัวในกิจการทางทูตไปยังลอนดอน เพื่อทำการเจรจาต่อรองระหว่างสเปนและอังกฤษ ทำให้รีเชอลีเยอไม่พอใจที่ไปทำงานร่วมกับฝ่ายตรงข้ามของฝรั่งเศส (อังกฤษเป็นโปตัสแตนที่ทำสงครามกับฝรั่งเศสช่วงนั้นด้วย)



     ภาพร่างที่เป็นภาพของอองรีแห่งนาวาร์ทรงโค้งคำนับพระเจ้าอ็องรีที่ 3   บรรยายเรื่องเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ทรงถูกขับออกจากปารีสหลังจากฆาตกรรมฟร็องซัว ดุ๊กแห่งกีซแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปพบกับอองรีแห่งนาวาร์เพื่อขอให้เข้าร่วมสงครามและให้การรับรองว่าอองรีเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของนาวาร์ แม้ว่ารือเบินส์จะเขียนฉากการพบปะกันครั้งนี้ภายในท้องพระโรง แต่บันทึกกล่าวว่าทั้งสองพระองค์ทรงพบกันในสวนที่เต็มไปด้วยผู้มาดูเหตุการณ์

ภาพที่วาดไม่เสร็จ การเข้าเมืองปารีส
ภาพยุทธการครั้งสุดท้ายที่พระเจ้าอ็องรีทรงต่อสู้

         ภาพนี้เป็นภาพพระเจ้าอ็องรีเสด็จเข้ากรุงปารีสในฉลองพระองค์แบบจักรพรรดิโรมันผู้ทรงถือช่อมะกอกที่เป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุข แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระองค์มิได้เสด็จเข้าปารีสเช่นในภาพ ฉะนั้นภาพจึงเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ของชัยชนะ ของพระองค์เท่านั้นที่  ฉาก (สิ่งก่อสร้างและประตูชัย) ยังไม่มีในปารีสขณะนั้นซึ่งเป็นการสร้างอุปมัยว่าพระเจ้าอ็องรี ยังเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส(ประตูชัยถูกสร้างในปี1836- หรืออีก200 ปีต่อมา)

     รือเบินส์เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวจากโรคเก๊า เมื่ออายุ 63 ปี ร่างบรรจุไว้ที่ Saint James' church, Antwerp ประเทศเบลเยี่ยมปิดฉากศิลปินและนักการทูตที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคบาโรค

อนุสาวรีย์ Peter Paul Rubens 
ที่Antwerp, Belgium

บ้านของรูเบนส์ที่   Antwerp

     "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ของรือเบินส์เป็นภาพชุดที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรอื่น ๆ ในยุคนั้นโดยเฉพาะต่อจิตรกรฝรั่งเศส อ็องตวน วาโต และฟร็องซัว ในยุครอคโคโค

เพิ่มเกล็ดประวัติศาสตร์สักหน่อย

    หลังจากพระเจ้าอองรีที่4ครองราชย์ได้ปีหลังจากยึดปารีสได้ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างคริสนิกายยังไม่สงบ ฌ็อง ราวายัก(Jean Ravaillac)อันธพาลและนักการโรงเรียน ผู้ถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างสุดโต่ง เขาเข้าเป็นสมาชิกคณะสงฆ์เฟยย็อง (Feuillant) แต่พอถูกราชการคุมประพฤติ ก็ถูกขับออกจากคณะสงฆ์ ต่อมาใน ค.ศ. 1606 เขาขอเข้าเป็นสมาชิกคณะเยซูอิต (Society of Jesus) อีก แต่ถูกบอกปัด เรียกว่าอยู่วัดไหนโดนไล่ออกหมด

ฟร็องซัว ราวายัก ชูมีดที่ใช้ปลงพระชนม์ – ภาพสลักในคริสต์ศตวรรษที่ 17

     วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1610 ราวายักไปซุ่มรอเสด็จอยู่ที่ถนนแฟร์รอนเนอรี (Rue de la Ferronnerie) ในกรุงปารีส ครั้นรถพระที่นั่งมาถึงและติดอยู่ในถนนนั้น ราวายักก็อาศัยโอกาสนี้พุ่งเข้าไปยังขบวนเสด็จ ปีนขึ้นไปบนราชรถ แล้วเอามีดจ้วงแทงพระเจ้าอ็องรีจนสิ้นพระชนม์



     ราวายักถูกราชองครักษ์จับกุมตัว หลังปีนขึ้นราชรถไปแทงพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ถึงแก่พระชนม์ – ภาพเขียนของชาร์ล-กุสตัฟ โฮเซ (Charles-Gustave Housez) คริสต์ศตวรรษที่ 19

      ราวายักถูกจับกุมทันที เจ้าหน้าที่เอาตัวเขาไปไว้ยังโรงแรมเร (Hotel de Retz) เพื่อกันฝูงชนรุมประชาทัณฑ์ จากการสอบสวนราวายักให้การว่าพระเจ้าอ็องรีเตรียมเป็นศัตรูกับพระสันตะปาปา ประมุขนิกายคาทอลิก เพราะมีพระประสงค์จะย้ายศูนย์กลางคริสต์ศาสนาจากกรุงโรมมายังปารีส และเขาต้องการให้พระเจ้าอองรีเปลี่ยนพวกโปตัสแตนให้เป็นคาทอลิคทั้งหมด


      เขาถูกนำตัวไปยังจตุรัสปลาซเดอแกร็ฟ (Place de Grève) ในกรุงปารีส และถูกทรมานเป็นครั้งสุดท้าย เช่น ราดด้วยน้ำมันเดือด น้ำตะกั่วหลอม ถูกคีมฉีกเนื้อ(จะเห็นอุปกรณ์ทรมานอยู่ล่างขวาของภาพ) ก่อนถูกประหารชีวิตโดยใช้ม้าสี่ตัวแยกร่าง อันเป็นวิธีประหารผู้ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ครั้นราวายักถูกประหารแล้ว บิดามารดาของเขาถูกเนรเทศ ครอบครัวของเขาถูกห้ามใช้ชื่อ "ราวายัก" อีก

     พระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส หรือ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งนาวาร์ ครองราชย์ได้11ปี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศิลปะยุคกรีก

ศิลปะยุค โรโกโก ตอนที่1 ศิลปแห่งความอ่อนหวานและรุงรัง

ศิลปะยุคบาโรค Baroque ตอนที่ 9 Gian lorenzo Bernini ผู้เสกหินอ่อนให้หายใจได้