ศิลปะยุคบาโรค Baroque ตอนที่ 2 การาวัจโจ - PART I

   มีเกลันเจโล เมรีซี ดา การาวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio ค.ศ. 1571 - 1610) จอมดิบเถื่อนผู้จุดเพลิงแห่งยุคบาโรคในศ.ต.ที่ 17

การาวัจโจ” วาดโดย ออตตาวีโอ เลโอนี- Ottavio Leoni

    การาวัจโจเกิดที่มิลาน พ่อของคาราวัจโจเป็นสถาปนิก-นักตกแต่งซึ่งเสียชีวิตตอนเขาอายุ6ขวบ การาวัจโจ ฝึกงานเป็นเวลาสี่ปีกับจิตรกรชาวลอมบาร์ด (งานเป็นลักษณะธรรมชาติมากกว่าทางเวนิส) ชื่อซีโมเน เปแตร์ซาโน (Simone Peterzano)ผู้เป็นลูกศิษย์ของทิเชียน เมื่อการาวัจโจ ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยากที่จะเข้าใจได้ น่าทึ่ง ไม่ยอมอยู่ในระบบ และออกจะอันตราย
    
          ในกลางปี ค.ศ. 1592 การาวัจโจหนีจากมิลานหลังจากไปทำร้ายตำรวจ มาถึงกรุงโรมอย่าง “ตัวเปล่าเล่าเปลือยและมีแต่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ... โดยไม่มีที่อยู่ที่ถาวรและอาหารการกิน ... ไม่มีเงินติดตัว” สองสามเดือนต่อมาคาราวัจโจก็ได้ทำงาน “เขียนดอกไม้และผลไม้” ให้กับจุยเซ็ปปิ เซซาริ ช่างเขียนคนโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8


ซีโมเน เปแตร์ซาโน(Simone Peterzano) อาจารย์ของการาวัจโจ

        ตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อปี ค.ศ. 1600 การาวัจโจก็มีคนจ้างตลอดแต่การรักษาสัญญาของการาวัจโจก็ออกจะมีปัญหา หลังจากทำงานได้สองอาทิตย์ก็เที่ยวลอยชายถือดาบโดยมีคนรับใช้ติดตามสักเดือนสองเดีอน พร้อมจะหาเรื่องทะเลาะหรือต่อสู้ จึงเป็นการยากที่จะเข้ากับการาวัจโจได้


เด็กชายปอกผลไม้” ซึ่งเป็นงานเขียนเท่าที่ทราบว่าเป็นงานเขียนชิ้นแรก 
ราว ค.ศ. 1592


The Basket of Fruits ภาพหุ่นนิ่งเป็นงานเขียนแรกๆของเขาที่หางานทำได้


บัคคัสไม่สบายYoung Sick bacchus1593

       ภาพ “บัคคัสไม่สบาย” เป็นภาพที่เขียนในปีแรกที่คาราวัจโจมาถึงกรุงโรมจากมิลาน ในราวกลางปี ค.ศ. 1592 และเชื่อกันว่าในช่วงนี้คาราวัจโจล้มเจ็บหนัก เป็นเวลาราวหกเดือนในโรงพยาบาลซานตามาเรียเดลลาคอนโซลาซิโอเน นอกจากจะเป็นภาพเหมือนตนเองแล้วภาพเขียนนี้อาจจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่งานเขียนของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการเขียนภาพประเภทต่างๆ เช่นจิตรกรรมภาพนิ่ง หรือภาพเหมือน และเป็นนัยยะว่าสามารถเขียนภาพของบุคคลจากสมัยคลาสสิกได้ การวางหน้าสามส่วนในภาพ เหมือนเป็นที่นิยมกันในปลายสมัยเรอเนสซองซ์ แต่ที่น่าสนใจคือใบหน้าที่หมองและเอียงคอเล็กน้อย ที่ทำให้ดูเหมือนไม่สบายจริงๆ

        ภาพเขียนนี้ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลของครูซิโมเน เพเทอร์ซาโน ตรงการเน้นการเขียนกล้ามเนื้อที่ตึงแน่น และการเขียนแบบที่ออกไปทางแข็งของตระกูล การเขียนแบบลอมบาร์ด และเน้นรายละเอียดของความเป็นจริง ส่วนเทคนิคการใช้แสงเย็นที่ส่องลงมา ที่ทำให้ตัวแบบแยกเด่นออกมาจากฉากหลัง เป็นลักษณะเฉพาะของคาราวัจโจเอง


เด็กชายกับตะกร้าผลไม้ (Boy with a Basket of Fruit) 

แสดงให้เห็นความสามารถของคาราวัจโจ ในการเขียนภาพที่เหมือนจริง จนสามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไรได้ คาราวัจโจวาดสิ่งที่เป็นจริงในตะกร้า และมิได้วาดอย่างอุดมคติ ภาพนี้เป็นภาพแรก ที่คาราวัจโจแสดงความซับซ้อนทางจิตวิทยา 
และทางกายที่กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในงานเขียนของคาราวัจโจต่อมา


หมอดู (อังกฤษ: The Fortune Teller)1594115 x 150 ซม พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน, กรุงโรม

        ภาพ “หมอดู” เป็นภาพของเด็กหนุ่มที่แต่งตัวอย่างสมัยกลาง (ในภาพที่สองนายแบบเชื่อกันวาเป็นเพื่อนของคาราวัจโจ จิตรกรซิซิลีชื่อมาริโอ มินนิติ) ที่ยื่นมือให้หญิงยิปซีอ่านลายมือให้ เด็กผู้ชายมองหน้าสาวด้วยท่าทางที่พอใจในสิ่งที่ได้ยิน โดยไม่ทันสังเกตว่าขณะที่หญิงยิปซีทำท่าอ่านลายมือด้วยการลากนิ้วไปมาบนมือนั้น ขณะเดียวกันก็แอบถอดแหวนจากมือชายหนุ่มไปด้วย หญิงยิปซีประสานสายตากลับราวกับจะเยาะอย่างเงียบๆในปี ค.ศ. 1594

       ภาพ “หมอดู” ทำให้วงการจิตรกรรุ่นหนุ่มและบรรดานักสะสมศิลปะหันมาสนใจงานของคาราวัจโจกันมาก แต่เพราะความที่คาราวัจโจจน จึงจำต้องขายภาพไปในราคาเพียงแปดสคูดิ ต่อมาภาพเขียนตกไปเป็นของนายธนาคารนักสะสมผู้ร่ำรวยมาร์เคเซ วินเช็นเต จุสติเนียนิ ผู้ที่กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญ

       ความคิดเห็นของคาราวัจโจในการเขียนแนวใหม่ที่มีอิทธิพลต่อศิลปินร่วมสมัยที่เริ่มด้วยภาพ “หมอดู” ซึ่งเป็นภาพที่จะมาแทนศิลปะเรเนอซองต์ ที่เชื่อว่าศิลปะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้น แต่วิธีการเขียนของคาราวัจโจเป็นการประกาศว่าศิลปะคือตัวแทนของชีวิตจริง




        คาราวัจโจเขียนภาพ “หมอดู” อีกภาพหนึ่งให้ คาร์ดินัลเดล มอนเตโดยเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อย โดยปรับฉากหลัง ให้กลายเป็นผนังจริงที่มีเงาม่านที่รูดไปครึ่งหนึ่ง และตัวแบบเต็มภาพมากกว่าภาพแรก ทำให้เป็นสามมิติ แสงที่ใช้ก็เรืองกว่าภาพแรก เสื้อผ้าที่ใช้ดูหรูและดีกว่า บรรยากาศในภาพหลังโดยทั่วไปดูอ่อนโยนลงกว่าภาพเดิม เช่นการโกงก็ดูไม่จงใจเท่าภาพแรก ฝ่ายหญิงดูหน้าอ่อนกว่า และยืนเอียงไปทางฝ่ายชายมากขึ้นเล็กน้อย ที่ทำให้ดูเหมือนรู้จักควบคุมสถานะการณ์ได้ ส่วนฝ่ายชายก็ยังเก้งก้าง เช่นที่เห็นจากการห้อยดาบที่ดูเหมือนจะเป็นอันตรายกับตัวเองมากกว่าต่อศัตรู


คนโกงไพ่ (ภาษาอังกฤษ: Cardsharps)1594

     ภาพเขียนแสดงเด็กหนุ่มที่แต่งตัวอย่างหรูหราแต่เป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ยังไม่ประสีประสากับโลก ที่กำลังเล่นไพ่กับเด็กชายอีกคนหนึ่ง เด็กคนที่สองคนที่โกงไพ่มีไพ่อีกใบหนึ่งเหน็บไว้ที่เข็มขัดข้างหลังเอว ซ่อนจากเด็กชายอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ซ่อนจากผู้ชมภาพ และชายหนุ่มใหญ่ที่แอบมองจากหลังผู้ที่โดนโกงและส่งสัญญาณให้คู่ร่วมมือ นอกจากนั้นเด็กคนที่สองก็ยังมีมีดเหน็บอยู่ที่เอว สำหรับใช้ในโอกาสที่สถานะการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลง

       ภาพนี้เป็นภาพที่สองต่อจากภาพแรก “หมอดู” เป็นภาพที่ทำให้เริ่มมีผู้สนใจ และเริ่มเป็นที่รู้จัก ทั้ง “หมอดู” และ “การโกงไพ่” เป็นหัวข้อการเขียนภาพที่ใหม่ในขณะนั้น ที่ใช้ฉากความเป็นจริงของชีวิตตามถนนในการเขียนภาพ โดยเฉพาะการเขียนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นปลายนิ้วถุงมือที่เป็นรูของชายที่มีอายุมากกว่า


เขียนราวปี ค.ศ. 1595 เป็นภาพเขียนภาพแรกที่คาราวัจโจเขียนที่เกี่ยวกับศาสนาและเชื่อกันว่าเป็นภาพที่เขียนไม่นานหลังจากที่ย้ายไปพักอาศัยอยู่กับ
คาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต 
และคงเป็นภาพแรกที่เขียนในฐานะ “จิตรกรของเดล มอนเต”

         ภาพนี้เป็นภาพของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ ซึ่งเป็นชื่อที่คาร์ดินัลใช้ในชั่วขณะ ที่ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นรอยแผลเดียวกับตำแหน่งแผลของพระเยซูเมื่อทรงถูกตรึงกางเขน  เป็นเรื่องที่บรรยายถึงนักบุญฟรานซิสออกไปในป่ากับผู้ติดตาม เพื่อไปทำสมาธิ เมื่อตกกลางคืน ก็เห็นปรากฏการณ์ของดรุณเทพหกปีก ลงมาปรากฏตัวตามคำสวดมนต์ของนักบุญฟรานซิส ที่ว่ามีความเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานของพระเยซู และในความรักของพระองค์ ทันใดนั้นก็มีเลือดและไฟพุ่งเป็นสายออกมาจากรอยแผลของพระองค์มายังมือและเท้าของนักบุญฟรานซิส ท่านเปล่งเสียงร้องดังออกมาด้วยความปิติและความเจ็บปวด แล้วนักบุญฟรานซิสก็ทรุดลงและหมดสติลงในกองเลือด

     ภาพที่คาราวัจโจเขียนไม่มีความใกล้เคียงกับคำบรรยายแต่อย่างใด มีเพียงเทวดาสองปีธรรมดาไม่มีสายเลือดที่พุ่งลงมายังนักบุญฟรานซิส ไม่มีกองเลือด ไม่มีรูปพระเยซูในรูปของดรุณเทพ เป็นแต่เพียงภาพของเทวดาที่ประคองนักบุญฟรานซิสอย่างอย่างอ่อนโยน โดยมีสหายของนักบุญอยู่ใกลออกไปในความมืดที่แทบจะมองไม่เห็นตัว

        นักบุญฟรานซิสผู้มีลักษณะคล้ายกับเดล มอนเตเอง ดูเหมือนจะทรุดอย่างสงบลงไปในอ้อมแขนของเทวดาที่ใบหน้าละม้ายกับ “เด็กชายปอกผลไม้” บุคคลในภาพสองคนส่องด้วยแสงสว่างยามค่ำโดยมีแสงเรือง ๆ ที่อยู่ไกลออกไปในขอบฟ้า ฉากนี้จึงเป็นทั้งภาพของความจริง และภาพของการจินตนาการในขณะเดียวกัน เดล มอนเตเก็บภาพนี้ไว้จนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต


คนเล่นลูท The Lute Player1596 - 100 x 126.5 ซม.
คาราวัจโจวาดเป็นชุดไว้ 3 ภาพคล้ายคลึงกัน 
ถูกเก็บรักษาไว้ภาพละที่ 
ภาพนี้ มีการเขียนถึงเพลงเกี่ยวกับความรักลงไปในภาพ
เพื่อสื่อความหมายบางอย่าง


แสดงรายละเอียดนิ้วมือที่เคลื่อนไหว
ด้วยการทิ้งฝีแปลงเป็นนิ้วซ้อนอยู่เหมือนเคาะจังหวะดนตรี


คนเล่นลูทภาพที่สาม พบอยู่ที่คฤหาสน์แบ็ดมินตันที่กลอสเตอร์เชอร์
ดยเพิ่งมีการค้นพบในปี ค.ศ. 2007


Bacchus 1596 หอศิลป์อุฟฟิซิ, ฟลอเร็นซ์ในประเทศอิตาลี

       “เทพบาคคัส” ซึ่งเป็นภาพที่เขียนไม่นานหลังจากที่คาราวัจโจเข้าไปพำนักอาศัยกับคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต ผู้เป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญคนแรก เป็นงานที่สะท้อนให้เห็นความสนใจในลัทธิมนุษยนิยม ไม่ว่าคาราวัจโจจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพนี้แสดงความมีอารมณ์ขันที่เห็นได้จากใบหน้าอันแดงก่ำของบาคคัส และเป็นภาพของเด็กหนุ่มที่ห่มตัวด้วยผ้าผืนหลวม ๆ  นอนเอนสลึมสลือท่าทางมึน ลักษณะของบาคคัสที่แสดงในภาพนี้มิได้ทำให้ผู้ชมภาพเชื่อว่าเป็นเทพ บาคคัสจริง ๆ นอกจากนั้นริ้วในแก้วไวน์ทำให้ดูเหมือนว่าบาคคัสคงจะถืออยู่ได้ไม่นาน ก่อนที่หกลงมาจากแก้ว

       เทพบาคคัสยื่นแก้วให้ด้วยมือซ้าย ทำให้สันนิษฐานกันว่าคาราวัจโจใช้กระจกส่องช่วยในการเขียนโดยตรง บนผืนผ้าใบแทนที่จะเขียนลายเส้นหรือร่างก่อน แต่แขนหรือมือซ้ายที่เห็นอันที่จริง เป็นมือขวา



     ผลไม้และขวดไวน์เป็นสิ่งที่นักวิชาการสนใจกันมานาน กว่าตัวเทพบาคคัสเอง นักวิชาการตีความหมายว่าผลไม้ที่อยู่ในสภาพที่กินไม่ได้อาจจะหมายถึงความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของสิ่งต่าง ๆ ในโลก  หลังจากภาพได้รับการทำความสะอาด ก็พบว่ามีเงาของจิตรกรกำลังเขียนภาพสะท้อนอยู่บนขวดไวน์


นาร์ซิสซัสหลงเงา (Narcissus) 1599

      นาร์ซิสซัสเป็นนายพราน ผู้มีชื่อเสียงในด้านความงาม เขาเป็นผู้หยิ่งทะนงเป็นพิเศษ โดยรังเกียจผู้ที่รักเขา เนเมซิสเห็นดังนี้จึงดึงดูดนาซิสซัส ไปยังบ่อ ที่ซึ่งเขาเห็นเงาสะท้อนของตนในน้ำ และตกหลุมรักเงานั้น โดยไม่ทราบเลยว่ามันเป็นเพียงภาพ จนสุดท้ายก็ตายเพราะไม่อาจผละสายตาไปจากความงามของเงาสะท้อนของตน  เรื่องราวของนาร์ซิสซัสมีแต่งกันหลายแบบ เช่น จบเรื่องด้วยนาร์ซิสซัสฆ่าตัวตาย นาร์ซิสซัสตกหลุมรักกับน้องสาวฝาแฝดมากกว่าตัวเขาเอง

ภาพเขียนสื่อบรรยากาศทางอารมณ์ที่หดหู่ โดยนาร์ซิสซัสล็อกตัวเป็นวงกลมกับเงาของตนเอง ในน้ำล้อมกลางภาพรอบตัวเป็นเงามืดรอบข้าง ที่ทำให้เน้นว่าความเป็นจริงภายในภาพมีแต่เพียงการจ้องดูเงาของตัวเองของนาร์ซิสซัสเท่านั้น


นักบุญเจอโรมเขียนหนังสือ 
หรือ นักบุญเจอโรมแปลพระคัมภีร์ (Saint Jerome Writing)

     ก่อนหน้าการปฏิวัติคริสต์ศาสนาภาพเขียนของนักบุญเจอโรม มักจะมีสิงห์โตและหมวกคาร์ดินัลอยู่ในภาพด้วย แต่นักปฏิรูปโรมันคาทอลิกต้องการจะลดองค์ประกอบของศิลปะคริสต์ศาสนาลง เหลือแต่สิ่งที่เป็นหัวใจของภาพ หนังสือที่เปิดอยู่ วางอยู่บนหนังสือเล่มล่างที่ปิดไว้ มีหัวกะโหลกวางอยู่บนหน้าหนังสือที่เปิด ตั้งอยู่บนโต๊ะเล็กๆ แสงที่จัดเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อบนแขน และความสัมพันธ์ระหว่างหัวของนักบุญเจอโรมและหัวกะโหลกบนหนังสือ ที่เป็นนัยถึงการเกิดที่ในที่สุดก็ต้องตายแต่พระวจนะของพระเจ้ายังคงอยู่ชั่วนิรันดร์


นักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย

       ตำนานกล่าวว่าแคเธอรินได้เดินทางไปเยี่ยมจักรพรรดิแม็กเซนเชียสของจักรวรรดิโรมัน เพื่อไปโน้มน้าวจักรพรรดิให้เห็นว่าการลงโทษผู้นับถือคริสต์ศาสนาเป็นสิ่งที่ผิด แคเธอรินสามารถชักชวนให้จักรพรรดินี และบรรดานักปราชญ์ผู้ที่ถูกส่งตัวมาโต้เถียงกับเธอ ให้เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา แต่ทุกคนที่เปลี่ยนศาสนาก็ถูกสังหารหมด เมื่อจักรพรรดิแม็กเซนเชียสไม่สามารถเปลี่ยนใจแคเธอรินได้ พระองค์ก็สั่งให้จับแคเธอรินไปขัง แต่ผู้มาเยี่ยมกลับเปลี่ยนศาสนากันไปตาม ๆ กัน จักรพรรดิจึงสั่งประหารชีวิตแคเธอริน บนกงล้อที่มีดาบเสียบที่ใช้เป็นเครื่องมือทรมาน แต่เมื่อแคเธอรินแตะล้อๆ ก็หัก พระจักรพรรดิจึงทรงสั่งให้ตัดหัวแคทเธอรินแทน สัญลักษณ์ของแคเธอรินคือดาบ กงล้อที่มีปุ่มแหลมรอบซึ่งมาเรียกกันว่าล้อแคทเธอริน


มารีย์มักดาลาละอายใจ  (: Penitent Magdalene) 1596-1597

       นางแบบกล่าวกันว่าคือสตรีในราชสำนักชื่ออันนา บิอันชินิ ในภาพนี้ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นภาพเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา เช่นรัศมี เป็นภาพที่เขียนจากมุมเหนือแม่แบบผู้นั่งอยู่บนม้านั่งเตี้ย ๆ ในบริเวณคล้ายถ้ำ ที่คาราวัจโจชอบโดยมีแสงสามเหลี่ยมสูงขึ้นไปบนผนังข้างหลัง แมรี แม็กดาเลน บนพื้นมีเครื่องประดับกระจัดกระจายอยู่รอบๆ ที่มีสร้อยไข่มุก กำไล และผอบ (ที่อาจจะเป็นผอบน้ำมันหอมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญมารีย์มักดาลา) ผมสยายราวกับเพิ่งสระ เครื่องแต่งตัวเป็นเสื้อแขนยาวสีขาว ทูนิคสีเหลืองและกระโปรงลายดอกไม้



      มารีย์มักดาลาของคาราวัจโจสะอื้นเงียบ ๆ กับตนเอง และมีหยาดน้ำตาหยดเดียวที่ไหลลงมาบนแก้ม คาราวัจโจแสดงให้เราเห็นถึง มารีย์มักดาลาที่อยู่ระหว่างชีวิตเดิมที่เต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย กับชีวิตใหม่ที่เลือกในฐานะผู้ติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิด ที่เป็นชีวิตอันสมถะ การที่สามารถสื่อความรู้สึกสะเทือนอารมณ์เช่นที่เห็นในภาพ เป็นความสามารถของคาราวัจโจ


       ในกรุงโรมระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการสร้างทั้งวัด และวังขนาดใหญ่ ๆ เมื่อมีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ก็มีความต้องการภาพเขียน เพื่อใช้ตกแต่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ โบสถ์ที่สร้าง ที่เป็นผลจากการปฏิรูปคาทอลิก ก็มีความต้องการภาพเขียนทางศาสนา เพื่อจะตอบโต้อิทธิพลจากการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และงานเขียนภาพแบบแมนเนอริสม์  ที่มีอิทธิพลมาร่วมร้อยปี ก็ไม่เป็นการเพียงพอต่อการแสดงออกที่ต้องการ


“ชะลอร่างจากกางเขน” (ค.ศ. 1602-1603)
การาวัจโจวาดไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วาติกันของโรมันคาทอลิค

      การาวัจโจได้รับสัญญาจ้างให้ตกแต่งชาเปลคอนทราเรลลิเป็นงานเขียนภาพสองภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” และ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” เป็นที่ต้อนรับเป็นอย่างดี


ภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” 
เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1599 ถึงปี ค.ศ. 1600 
เป็นภาพแขวนตรงกันข้ามกับภาพ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” 
และข้างภาพสำหรับฉากแท่นบูชา “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” 
และเป็นภาพแรกในสามภาพที่เขียนเสร็จและติดตั้งภายในชาเปล

     ตามตำนานแล้วนักบุญแม็ทธิวถูกสั่งให้ฆ่า โดยพระเจ้าแผ่นดินแห่งเอธิโอเปีย ขณะที่ทรงทำพิธีมิซซาหน้าแท่นบูชา พระเจ้าแผ่นดินทรงหลงเสน่ห์พระนัดดาของพระองค์เอง นักบุญแม็ทธิวจึงกล่าวติเตียน นอกจากสตรีที่ว่าจะเป็นพระนัดดาแล้วก็ยังเป็นชีด้วยซึ่งถือว่าเป็น “เจ้าสาวของพระเยซู” (Bride of Christ) คาร์ดินัลคอนทราเรลลิผู้เสียชีวิตไปหลายสิบปีก่อนหน้านั้น บ่งรายละเอียดของภาพไว้ว่า ให้เป็นภาพที่เป็นฉากที่นักบุญแม็ทธิวกำลังจะถูกสังหารโดยทหารที่ส่งมา โดยพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงไม่มีคุณธรรม, ให้มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสม และให้มีผู้เห็นเหตุการณ์ที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ที่เหมาะสม

     จากการเอ็กซเรย์พบว่าคาราวัจโจ วาดไว้สองครั้งก่อนหน้าภาพนี้ จากภาพที่เห็นนี้ คาราวัจโจเริ่มที่จะเขียนภาพ ที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองบ้างแล้ว ที่ใช้ทฤษฎีที่ว่า การวาดภาพคนขึ้นอยู่กับแสงและความมืดและการละทิ้งการเขียนฉากหลัง ภาพตัดทอนสถาปัตยกรรม และลดจำนวนผู้คนในภาพลง และย้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใกล้ผู้ดูยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้นก็ ริเริ่มการใช้ค่าต่างแสงอย่างจริงจัง โดยการเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของภาพ โดยการใช้แสงส่องลงไปตรงจุดนั้นเช่นเดียวกับการใช้สป็อตไลท์บนเวทีในปัจจุบัน แต่เป็นการใช้ก่อนที่จะมีการใช้สป็อตไลท์เป็นเวลาหลายร้อยปี ส่วนเนื้อหาของภาพคาราวัจโจ ก็เลือกชั่วขณะที่เป็นจุดสุดยอดของนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ในจังหวะที่ผู้สังหาร พร้อมที่จะพุ่งดาบเข้าไปเสียบอกของนักบุญที่ผงะหงายหลังลงไป



    ภาพนี้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของการเขียนภาพแบบแมนเนอริสต์ของคาราวัจโจ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ไปเป็นการเขียนแบบศิลปะบาโรก ภาพเขียนสร้างความตื่นเต้นให้แก่วงการจิตรกรรมโดยทั่วไปในโรม

   นักบุญแม็ทธิวดูเหมือนจะพยายามถอยจากการทำร้ายของผู้สังหาร ที่ส่องสว่างด้วยแสง ที่พร้อมที่จะยกดาบขึ้นแทง รอบ ๆ นักบุญก็เป็นผู้คนที่แสดงอารมณ์ต่างกันไป ตามที่คอนทราเรลลิที่ระบุไว้: ความกลัว, ความอกสั่นขวัญหนี และความตกตลึง ขณะที่มีเทวดาถือใบปาล์มห้อยลงมาเป็นสัญญลักษณ์ของการพลีชีพเพื่อศาสนา




     การยื่นมือออกไปของนักบุญแม็ทธิว มิใช่เป็นการแสดงความเสียขวัญด้วยความกลัวที่จะถูกสังหาร แต่เป็นการพยายามที่จะเอื้อมไปรับใบปาล์มจากเทวดา การยึดมือของนักบุญโดยผู้สังหารและความพยายามของเทวดา ที่จะเอื้อมมาหาเป็นสิ่งที่สวนทางกัน และนักบุญแม็ทธิวเท่านั้นที่ได้เห็นมโนทัศน์ของเทวดา เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้วภาพเขียนนี้ จึงไม่ใช่ชั่วขณะของความสยดสยองแต่เป็นภาพของการพลีชีพหรือการเสียสละตนเองของนักบุญที่เหนือกว่าสิ่งใด


ฉากหลังซ้ายจากกลางภาพหลังผู้สังหารจะเห็นภาพตนเองของคาราวัจโจอยู่ด้วย



“พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว”. (1599–1600).

     สำหรับชาเปลคอนทราเรลลิ (Contarelli Chapel) ภายในวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิในกรุงโรม เป็นงานสัญญางานจ้างชิ้นใหญ่ชิ้นแรกให้คาราวัจโจ ที่เป็นภาพเขียนภาพแรก ที่มีคนในภาพมากกว่าสองสามคนที่คาราวัจโจเคยเขียนมา งานเขียนสามชิ้นของคาราวัจโจภายในชาเปลคอนทาเรลลิ เป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นการแยกตัวอย่างเด็ดขาด จากการเขียนแบบแมนเนอริสต์ มาแทนที่ด้วยงานที่เป็นธรรมชาติของคาราวัจโจ และอันนิบาเล คารัคชี ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากในสมัยนั้น




     บุคคลในภาพที่นั่งอยู่รอบโต๊ะในด่านภาษีท่าทางเป็นคนชั้นต่ำ ที่น่าจะเคยเป็นแบบในภาพเขียนอื่นๆ ของคาราวัจโจมาก่อน รวมทั้งภาพเขียนที่เป็นภาพเขียนชีวิตประจำวันเช่นภาพ “คนโกงไพ่” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1595 ในภาพนี้บรรยากาศที่ทึมและหน้าต่าง ทำให้เข้าใจว่าโต๊ะตั้งอยู่ภายในที่อยู่อาศัย เป็นนัยยะว่าพระเยซูทรงเป็นผู้นำแสงสว่างมาสู่ความมืดของผู้เก็บภาษี ที่นั่งอยู่ในเงา ซึ่งเป็นการแสดงความขัดแย้งระหว่างโลกสองโลก อำนาจของความศรัทธา และอำนาจของโลก พระเยซูทรงชี้ไปยังแม็ทธิว ด้วยลำแสงเหมือนไม่ทรงต้องใช้กำลังแต่อย่างใด การไม่ทรงรองพระบาทเป็นการแสดงความสมถะ ที่ตรงกันข้ามกับบรรดาผู้เก็บภาษีที่แต่งตัวกันเต็มยศ ผู้ชมงานของคาราวัจโจคงจะเห็นความละม้ายคล้ายคลึง ของการที่พระเยซูทรงชี้ไปยังแม็ทธิว กับภาพพระเป็นเจ้าสร้างอาดัมในภาพที่เขียนโดยไมเคิล แอนเจโลบนเพดานของชาเปลซิสติน เมื่อมองตามพระกรของพระเยซูไปยังแม็ทธิว ก็ราวจะเป็นการเชิญชวนของพระองค์ไปสู่โลกภายนอก ซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่ต่างจากศิลปะแมนเนอริสม์ ที่ทำให้งานนี้เป็นที่นิยมกันมาก



      ภาพเขียนนี้จึงเป็นภาพเขียนแรกที่คาราวัจโจแสดงแนวเขียนใหม่ของศิลปะอย่างชัดเจน ในการเน้นความเป็นธรรมชาติ และการแสดงเหตุการณ์ในชั่วขณะที่เกิดขึ้น ลำแสงที่ส่องเข้ามาในภาพจากหน้าต่างในภาพแสดงความเปลี่ยนใจของนักบุญแม็ทธิว


 คาราวัจโจใช้ลักษณะการเขียนที่เรียกว่าภาพสว่างในความมืด(tenebrism) ( ลักษณะที่หนักกว่าการใช้ ค่าต่างแสง(chiaroscuro) ) ที่ช่วยเพิ่มความเป็นนาฏกรรมของภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกับที่ยังรักษารายละเอียดของความเป็นจริง ที่ทำให้การสื่อความหมายทางความรู้สึกยิ่งรุนแรงหนักขึ้น แต่เพื่อนศิลปินบางคนก็วิจารณ์ เช่น ติการเน้นการเขียนจากชีวิตจริงโดยไม่ได้ร่างไว้ก่อน แต่ส่วนใหญ่แล้วคาราวัจโจก็ได้รับการสรรเสริญ ว่าเป็นผู้มาช่วยชุบชีวิตศิลปะ “จิตรกรที่โรม ต่างก็ประทับใจในแนวการเขียนใหม่ของจิตรกรหนุ่ม และรุ่นเด็กลงไปต่างก็มาล้อมรอบตัวคาราวัจโจ และสรรเสริญว่าเป็นมีเอกลักษณ์ในการเขียนเลียนแบบธรรมชาติ และมองงานของคาราวัจโจว่าเป็นงานปาฏิหาริย์”


จบคาราวัคจิโอภาค1

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศิลปะยุคกรีก

ศิลปะยุค โรโกโก ตอนที่1 ศิลปแห่งความอ่อนหวานและรุงรัง

ศิลปะยุคบาโรค Baroque ตอนที่ 9 Gian lorenzo Bernini ผู้เสกหินอ่อนให้หายใจได้